กำจัดหนู
สำรวจพื้นที่ฟรี (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ความรู้เรื่องปลวก และการกำจัดโดยใช้สารสกัดจากพืช

ปลวกเป็นแมลงที่อยู่กันเป็นสังคมมีสามวรรณะ คือ
       1. ปลวกสืบพันธุ์ คือปลวกตัวผู้และตัวเมียตามปกติในรังจะพบปลวกคู่นี้ทำหน้าที่ผสมพันธุ์และสืบพันธุ์ ตัวผู้เรียกว่าราชาปลวก และตัวเมียเรียกว่า ราชินีปลวก ออกไข่เกิดเป็น ปลวก ชนิดต่างๆ นอกจากนี้ ปลวก สืบพันธุ์ยังมีหน้าที่ กระจาย พันธุ์และสร้างอาณาจักรใหม่ ปลวกชนิดนี้มีปีกทั้งตัวผู้และตัวเมียเรียกว่าแมลงเม่า เมื่อจับคู่ผสมพันธุ์แล้วจะสลัดปีก และเลือกสถานที่เหมาะสมเพื่อสร้างรัง และเกิดเป็นอาณาจักร ใหม่ต่อไป
       2. ปลวกงานเป็นปลวกตัวเล็กไม่มีปีก และไม่มีตา อาศัยอยู่ในดินหรือเนื้อไม้ ที่มันกัดและทำลาย มีหน้าที่ก่อสร้าง หาอาหารมาเลี้ยงปลวกวรรณะอื่นๆ ปลวกชนิดนี้จะทำงานทุกอย่างภายในรัง
       3. ปลวกทหารเป็นปลวกที่มีหัวโตและขากรรไกรขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการต่อสู้ ไม่มีปีก ไม่มีตา ปลวกชนิดนี้มีหน้าที่ปกป้องอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับรัง ศัตรูสำคัญของมัน คือ มด แต่ละวรรณะแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน ปลวกมีหลาย
ชนิดจากรายงานพบว่ามีปลวกทั้งหมดกว่า 2,000ชนิด มีเพียง 148 ชนิดที่เข้าทำลายอาคาร และมี 80 ชนิดที่อาจเป็นศัตรู สำหรับในประเทศไทยได้มีการสำรวจพบว่ามีปลวกอยู่ 27 สกุล 74 ชนิด ปลวกแบ่งตามที่อยู่อาศัย ได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้คือ

วงจรชีวิตของปลวกวงจรชีวิตของปลวก

 1. ปลวกที่อาศัยอยู่ในเนื้อไม้ (Wood dweller termites) จะอยู่เฉพาะในไม้บนดินเท่านั้น ไม้อาจมีชีวิตหรือไม่มี
ชีวิตก็ได้ แบ่งปลวกจำพวกนี้ได้เป็น 2 ชนิด คือ
       1.1. ปลวกไม้เปียก (damp-wood termites) เป็นปลวกที่ต้องการความชื้นในการดำรงชีวิตสูง ได้แก่
ปลวกที่อาศัยอยู่กับไม้ผุ ในสภาพที่ค่อนข้างเย็น ได้แก่ ปลวกในสกุล Kalotermes, Neotermes และ
Glyptotermes เป็นต้น
       1.2. ปลวกไม้แห้ง (dry-wood termites) เป็นปลวกที่ชอบอาศัยอยู่ในที่แห้งแล้ง ต้องการความชื้น
เล็กน้อยในการดำรงชีพ มักพบอาศัยอยู่ในท่อนไม้แห้ง เช่นไม้ที่นำมาเป็นโครงสร้างอาคารบ้านเรือน และเป็นพวก
ที่ทำความเสียหายร้ายแรงต่ออาคารบ้านเรือนและเครื่องเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ

2. ปลวกที่อาศัยอยู่ในดิน (Ground dweller termites) เป็นปลวกที่ต้องอาศัยอยู่ในดินหรือรังมีส่วนติดต่อกับพื้นดิน ปลวกพวกนี้จะมีความสัมพันธ์กับเห็ดรา และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน ไม้ล้ม ขอนไม้ตามพื้น และต้นไม้ยืนต้น ได้แก่ปลวกในสกุล Macrotermes, Odontotermes, Microtermes และ Coptotermes สามารถ
แบ่งปลวกจำพวกนี้ได้ 3 ชนิด
       2.1. ปลวกใต้ดิน (subterranean termites) เป็นปลวกที่ทำรังอยู่ใต้ดิน รังของปลวกชนิดนี้จะทำด้วย
เศษไม้และดินรังจะมีลักษณะเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำอยู่ใต้พื้นดิน ที่เป็นปัญหาในประเทศไทยได้แก่ Coptotermes
gestroi, Coptermes havilandi จะพบอยู่ในตอไม้เก่าๆ นอกบ้าน ปลวกจะสร้างทางเดินซึ่งทำด้วยดินและมูลซึ่ง
ขับถ่ายออกมาเป็นทางเดินคลุมตัวไม่ให้ถูกแสงสว่างและป้องกันศัตรู
       2.2. ปลวกที่สร้างจอมปลวก (mound-building termites) จอมปลวกที่เราเห็นกันจะเป็นการสร้าง
มาจากน้ำลายผสมกับมูลดินจนมีความแข็งแกร่ง บางชนิดจะทำความเสียหายให้กับบ้านเรือนได้เช่น Globitermes
sulphureus ไม้ที่โดนทำลายจะกลวงเหลือแต่แผ่นบางๆ ภายนอกไว้เป็นโครง
       2.3. ปลวกที่ทำรังด้วยเศษไม้หรือเยื่อไม้เป็นปลวกที่สร้างรังตามกิ่งไม้หรือโพรงไม้ จะสร้างรังโดยการนำเศษใบไม้เศษไม้ที่ย่อยแล้วมาผสมกับดิน รังจะมีรูปร่างค่อนข้างกลมคล้ายรังของต่อ แตน

ปัจจัยที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของปลวก คือ
       1. อาหาร อาหารของปลวกส่วนมากคือ เนื้อไม้ หรือสารที่มีเซลลูโลส เศษไม้จะถูกย่อยโดยเชื้อ โปรโตซัว ซึ่งมีอยู่ในตัวของมัน
       2. ความชื้น ปลวกและแมลงที่ต้องอาศัยความชื้น เพื่อให้เกิดน้ำในลำตัวตลอดเวลา ปลวกไม้แห้งจะปิดทางเข้าออกของรังอย่างมิดชิดในขณะที่อากาศภายนอกมีความชื้นต่ำ ปลวกใต้ดินจะปรับอากาศในรังหรือทางเดินให้เหมาะสมเลือกทำรังในดินที่มีความชื้นและนำความชื้นเข้าสู่รังจากพื้นที่ชื้นนอกรัง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการทำลายของปลวก คือ
       ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขต มรสุม ซึ่งเป็นเขตที่เหมาะสม สำหรับปลวกใต้ดินจะอาศัยอยู่ และพบว่าปัญหาปลวกนี้จะมีอยู่ในทุกภาคของประเทศ ปลวกเข้าทำลายสิ่งของตามอาคารบ้านเรือน โดยสร้างอุโมงค์ดินไปตามทิศทางต่างๆจนพบอาหาร บางครั้งอาจมีระยะไกลมาก เมื่อเข้าสู่ในอาคารได้สิ่งของต่างๆที่ทำจากไม้คือ อาหารของมัน พื้นไม้วงกบประตู หน้าต่าง ฝา ผ้า และกองกระดาษเก่า เป็นบริเวณที่จะพบปลวกได้

การป้องกันกำจัดปลวกโดยใช้สารสกัดจากพืช
       การใช้วัสดุและสารสกัดจากธรรมชาติเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เริ่มนิยมนำมาใช้กันอย่างต่อเนื่องในการป้องกันการเข้าทำลายของปลวกใต้ดิน เนื่องจากสารสกัดจากธรรมชาติมีความปลอดภัยและไม่เป็นพิษในสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถผลิตใช้ได้ภายในประเทศ พบว่าในประเทศไทยมีพืชหลายชนิดที่มีฤทธิ์ในการกำจัดปลวก เช่นเช่น หางไหล ตระไคร้หอม ข่า ขมิ้นชัน หัวแห้วหมู พริกขี้หนู น้ำมันงา ขมิ้น และใบสาบเสือ พืชเหล่านี้มีสารสำคัญในการควบคุมประชากรปลวกโดยกลไกที่แตกต่างกันตั้งแต่การยับยั้งการเจริญเติบโตของตัวอ่อน การวางไข่ การกินอาหาร ตลอดถึงการลดการพัฒนาการของจุลินทรีย์ในลำไส้ปลวก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความอยู่รอดของปลวก ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาคุณสมบัติของสารสกัดจากพืชเหล่านี้เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้และปริมาณที่ใช้ ให้สอดคล้องกับชนิดของปลวกที่ก่อความเสียหาย

ปลวก

อ้างอิง
เรื่อง ปลวกและการป้องกันกำจัดโดยใช้สารสกัดจากพืช
โดย งานอารักขาพืช สถาบันเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 202 หมู่ 17 ตำบลพิชัย อำภอ เมือง จังหวัดลำปาง