กำจัดหนู
สำรวจพื้นที่ฟรี (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

อันตราย...การใช้สารเคมีกำจัดแมลงในบ้าน

อันตราย...การใช้สารเคมีกำจัดแมลงในบ้าน

ฉีดปลวก

       หนู แมลงสาป หรือแมลงต่าง ๆ อีกหลายชนิดที่เราไม่พึงประสงค์ที่จะให้เข้ามาอยู่อาศัยในบ้านร่วมกับเรา เนื่องจากแมลงต่าง ๆ เหล่านี้นำมา ซึ่งพาหะของเชื้อโรคทำให้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และทำให้มีอาการเจ็บป่วย จนบางครั้งมีอาการผิดปกติกับร่างกายและ ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อโรคเหล่านั้น หากจะมองในอีกมุมคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนบางครั้งต้องยอมรับสภาพกับ แมลงต่างๆ เหล่านั้น แต่เราในฐานะผู้อาศัยอยู่ในบ้านคงต้องหาวิธีการที่จะทำให้แมลงอาศัยอยู่ในบ้านเราให้น้อยที่สุด เช่น ต้องทำความสะอาด บ้านเรือนอยู่เสมอ นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นทางเลือกของใครหลายๆ คนในการกำจัดแมลงในบ้านคือการใช้สารเคมีกำจัด แมลง
       ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวกและให้ผลรวดเร็ว นอกจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลงกับ ผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังมีการใช้สารเหล่านี้ในบ้านพักอาศัยกันเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้กำจัดแมลงในบ้านเรือน รวมทั้งในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิต ได้มีการเติมสารต่างๆ เช่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นผลไม้ กลิ่นหอมต่างๆ ลงไปในสารเคมีกำจัดแมลง จนทำให้ลืมไปว่าสารเคมีเหล่านี้คือสารพิษที่เป็น อันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน ทำให้การใช้สารเคมีกำจัดแมลงดังกล่าวไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงควร ศึกษาผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ วิธีการใช้ที่ถูกต้องรวมทั้งศึกษาพิษของสารเคมีดังกล่าว สารสำคัญในสารเคมีกำจัดแมลง

       1. สารกลุ่มออร์การ์โนคลอรีน (Organochlorine) เป็นสารกำจัดแมลงที่มีพิษค่อนข้างสูง สลายตัวได้ยาก ทำให้เกิดการตกค้างใน สิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน ซึ่งหลายประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ห้ามใช้สารในกลุ่มนี้ เช่น คลอเดน (chlordane) พบในยากำจัดปลวก และลินเดน (lindane) พบในยากำจัดเหา

       2. สารกลุ่มออร์การ์โนฟอสเฟต (Organophosphate) เป็นสารกำจัดแมลงที่สามารถออกฤทธิ์ในการกำจัดแมลงได้ดี มีประสิทธิภาพ สูง และมีข้อดีกว่าสารกำจัดแมลงในกลุ่มออร์การ์โนคลอรีน คือ สามารถย่อยสลายได้ โดยสิ่งมีชีวิตและมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า แต่มีความเป็นพิษค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสารกำจัดแมลงกลุ่มคาร์บาเมท เช่น คลอไพริฟอส (chlorpyrifos) ไดโควอส (dichlovos) และ DDVP พบในสเปรย์กำจัดยุงและแมลงสาบ สเปรย์กำจัดปลวก มด มอด ส่วนมาลาไธออน (malathion) พบในยากำจัดหมัด
 


       3. สารกลุ่มคาร์บาเมท (Carbamate) เป็นสารกำจัดแมลงที่เป็นพิษต่อมนุษย์ค่อนข้างต่ำ สลายตัวได้เร็ว จึงตกค้างในสิ่งแวดล้อม ได้น้อยและสามารถใช้กำจัดแมลงได้เทียบเท่าสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์การ์โนฟอตเฟต เช่น โปรพ็อกเซอร์ (Propoxur) หรือที่รู้จักกันในชื่อทาง การค้าคือไบกอน คาร์บาริล (carbarly) ชื่อทางการค้าคือเซฟวินและคาร์โบฟูแรน (carbofuran) ชื่อทางการค้าคือฟูราดาน พบในสเปรย์กำจัดยุง

       4. สารกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroid) เป็นสารกำจัดแมลงที่สังเคราะห์ขึ้นเลียนแบบธรรมชาติมีความไวทางชีวภาพสูง ทำให้ไม่มีพิษ สะสมในร่างกาย จึงเกิดพิษต่อคนและสัตว์น้อยมาก เช่น เฟนวาเลท (fenvalate) พบในยากำจัดปลวก ไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) และ เดลต้าเมทริน (deltamethrin) พบในชอคก์ขีดกำจัดแมลงคลาน สเปรย์กำจัดมด เป็นต้น

สารเคมีกำจัดแมลงสามารถเข้าสู่คนได้ 3 ทาง คือ
       ทางปาก โดยการกิน การดื่ม หรือโดยอุบัติเหตุ ทางการหายใจ โดยการสูดดมไอของสาร ซึ่งสารเคมีกำจัดแมลงบางชนิดอาจมีฤทธิ์ กัดกร่อนทำลายเยื่อจมูกและหลอดลมได้ ทางผิวหนัง โดยการสัมผัสหรือจับต้องสารเคมีกำจัดแมลง ทำให้เกิดการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังซึ่งหาก ผิวหนังมีบาดแผลจะทำให้สารพิษดูดซึมสู่ผิวหนังได้ดี โดยเฉพาะสารพิษที่อยู่ในรูปของเหลว สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ดีและรวดเร็วกว่ารูปแบบอื่น

อาการที่เกิดจากการแพ้สารเคมีกำจัดแมลง
       อ่อนเพลีย มึนงง ปวดศรีษะและเมื่อยตามตัว แน่นหน้าอก หายใจหอบ มีอาการสั่น กล้ามเนื้อกระตุก มองเห็นภาพได้ลางเลือน ม่านตาหรี่ น้ำลายและเหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง อาจถ่ายอุจจาระและปัสสาวะโดยกลั้นไม่อยู่ ถ้ามีอาการรุนแรงอาจชัก และหมดสติ อาจหยุดหายใจ และถึงตายได้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
       ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีสารเคมีกำจัดแมลง ถ้าสารเคมีกำจัดแมลงถูกผิวหนังให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีกำจัดแมลงออก รีบชำระร่างกายของผู้ป่วยให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ อย่าขัดถูผิวหนังเพราะจะทำให้สารพิษซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย ถ้าสูดดมสารเคมีกำจัดแมลงเข้า ไปให้นำผู้ป่วยไปพักผ่อนในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกและอบอุ่น คลายเสื้อผ้าให้หลวม ถ้าสารเคมีกำจัดแมลงเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 15 นาที ห้ามใช้ยาล้างตา ในกรณีที่สารเคมีกำจัดแมลงเข้าปากให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ถ้าผู้ป่วยกินสารเคมีกำจัด แมลงเข้าไปให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลาก หรือทำให้อาเจียนแต่ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่หมดสติและเป็นโรคหัวใจ การทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยให้ผู้ป่วย รับประทานไข่ขาวดิบ ขนาดที่ใช้ คือ เด็ก 4 ฟองและผู้ใหญ่ 8 ฟอง และรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันทีพร้อมด้วยภาชนะบรรจุ และฉลากวัตถุมีพิษนั้น

การปฏิบัติตนเพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้อยู่อาศัย และสัตว์เลี้ยง
       อ่านฉลากข้างภาชนะบรรจุให้ละเอียดทุกครั้งก่อนใช้ ควรระมัดระวังในการเทหรือรินสารเคมีกำจัดแมลง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสทางผิวหนัง ระหว่างฉีดพ่นควรสวมเครื่องป้องกันตัว เช่น สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ใส่ถุงมือหรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก อย่าฉีดพ่นในห้องที่มีเด็ก ผู้ป่วยผู้อยู่อาศัยและ สัตว์เลี้ยง รวมทั้งในบริเวณที่มีอาหารและบริเวณที่มีเปลวไฟ หากจำเป็นต้องฉีดพ่นในห้องที่มีอาหารต้องปิดครอบอาหารให้มิดชิด หรือนำออกนอก บริเวณที่ใช้สารเคมี อย่าฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงภายนอกขณะที่ลมแรงหรือมีฝนตก ควรเก็บสารเคมีกำจัดแมลงที่ใช้ในบ้านให้ห่างไหลจากเด็ก หรือเก็บไว้ในตู้ล๊อคที่ปลอดภัย หลังฉีดพ่นควรปิดห้องไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ละอองของสารเคมีกำจัดแมลงที่กระจายในอากาศบริเวณนั้น เจือจางลง แล้วทำความสะอาดพื้นห้องเพื่อกำจัดสารเคมีที่ตกตามพื้น ควรล้างมือ ล้างหน้า อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังการฉีดพ่นสารเคมี กำจัดแมลง สำหรับภาชนะบรรจุที่ใช้หมดแล้วควรฝังดิน

       ด้วยเรื่องราวที่ผู้เขียนนำรายละเอียดมาฝากผู้อ่านทั้งหมดนี้ คงจะเป็นเรื่องราวที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องใช้สารเคมีภายในบ้านเรือนเป็น ประจำ อาจจะเป็นเรื่องที่เคยได้ยิน และเคยปฏิบัติกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการย้ำเตือนและเป็นการเฝ้าระวัง ไม่ให้อันตรายจากการใช้สาร เคมีเกิดขึ้น และเพื่อให้ทราบถึงโทษของสารเคมีที่เราใช้กันด้วยความเคยชิน

      สุดท้ายการใช้สารเคมีไม่ว่าจะเป็นในแปลงของเกษตรกร หรือจะนำมาใช้เพื่อกำจัดแมลงภายในบ้านเรือน กรมวิชาการเกษตร ได้มีนโยบาย และเน้นย้ำเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอดว่า การที่จะเลือกใช้สารเคมีอยากให้เป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้ เนื่องจากการ ใช้สารเคมีจะเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดจะส่งผลถึงตัวผู้ใช้นั่นคือเกษตรกรนั่นเอง การที่จะเลือกใช้สารเคมี เพื่อการใดก็ตาม เราควรศึกษาให้ดีถึงข้อควรปฏิบัติ เพื่อที่เราจะได้เป็นผู้ที่เรียกได้ว่า เป็นผู้ที่รู้เท่าทันอันตราย... จากการใช้สารเคมี

แหล่งที่มา
กรมวิชาการเกษตร โดย ปรียานุช  สายสุพรรณ์